ไหว้ครูบาก๋ง

ครูบา บ้านก๋ง

บ้านก๋ง อ.ท่าวังผา คือ บ้านเกิดเมืองนอนของแม่หนึ่งเอง จึงเป็นหมู่บ้านที่หนึ่งเดินทางไปบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนโต ทุกครั้งที่ไปเราจะไปแวะไหว้ครูบาก๋งกันที่วัดบ้านก๋ง จำได้ว่าตอนเด็กๆ หนึ่งยังทันเห็นและรับพรจากครูบาก๋งบ่อยๆ บนกุฎิไม้สองชั้นที่อยู่ภายในวัด บรรยากาศร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่อยู่รอบ แม่ก็จะเล่าประวัติครูบาก๋งให้ฟังตลอด เมื่อวานนี้ก็เช่นกันเราก็ได้แวะที่วัดบ้านก๋ง (วัดศรีมงคล)  และเข้าไปไหว้พระในอุโบสถ และรูปปั้นจำลองของครูบาก๋ง กุฏิไม้ที่เคยเห็น ตอนนี้ก็ยังมีอยู่แต่ที่เปลี่ยนไปคือ ต้นไม้หายไป ทางเดินและภายในพื้นที่วัดจะเทด้วยปูนทั้งหมด (แต่ก็มีเว้นเป็นดินบ้างนิดหน่อย) และเจ้าอาวาสวัดจะอยู่อีกด้านหนึ่ง

“ครูบาก๋ง” หรือ พระครูมงคลรังษี (หลวงปู่ครูบาก๋ง)

ชาติภูมิ

พระครูมงคลรังสี นามเดิมชื่อ พรมา นามสกุล ไชยปาละ บิดาชื่อ นายธนะวงศ์ ไชยปาละ มารดาชื่อ นางอูบแก้ว ไชยปาละ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๓ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ณ บ้านดอนมูล ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน
มีพี่น้อง ร่วมบิดามารดา จำนวน ๔ คน

การศึกษา

การศึกษาเบื้องต้น หลวงปู่ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลบ้านดอนมูล สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จากนั้นก็ได้เรียนหนังสือไทยล้านนา และไทยกลาง ณ วัดดอนมูล จากพระในวัดเป็นผู้สอนให้จนสามารถอ่านออกเขียนได้คล่อง

การบรรพชา

บรรพชาเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๙ ขณะเมื่ออายุได้ ๑๔ปี โดยมีพระอิทธิยศเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนมูล

การอุปสมบท

อุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี หลวงปู่ต้องไปคัดเลือกทหาร จึงได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า “ถ้าข้าน้อยได้คัดเลือกชั้นที่ ๑ ก็จะขอเป็นทหารรับใช้ชาติตลอดไป แต่ถ้าข้าน้อยคัดเลือกได้ชั้นที่ ๒ ก็จะขออุปสมบทเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต จะไม่ขอลาสิกขาเพศ จะขออยู่รับใช้พระศาสนาจนดับขันธ์ คงสืบเนื่องจากบุญวาสนา ซึ่งหลวงปู่ได้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด จึงคัดเลือกได้ที่ ๒ในวันรุ่งขึ้นของวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๖๖ หลวงปู่จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดดอนมูล โดยมีพระอิทธิยศ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมวาท เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอินต๊ะวงศ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ให้นามฉายา ว่า “มงคโล ภิกษุ”

การศึกษาและการปฏิบัติธรรม

เมื่อ ได้อุปสมบทแล้ว หลวงปู่ได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฎฐาน และถวายตัวเป็นศิษย์ครูบาหลวงพุทธวงศ์ ครูบาอุปละ ครูบาญาณะวัดสวนดอก ครูบาก๋าอาธะวัดไฮ่สบบั่ว ครูบากิตต๊ะวงศ์ ครูบาอินต๊ะ ครูบาบ้านส้าน ครูบาขัตติยะ วัดร้อง ได้ศึกษาและปฏิบัติอยู่เป็นเวลา ๒ ปี จึงได้อำลาครูบาและอุปัชฌาย์ โดยแจ้งความจำนงที่จะออกไปบำเพ็ญเพียร ตามป่าเขาลำเนาไพรด้วยตนเอง เพื่อให้กายวิเวก ได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาในจังหวัดน่าน แล้วออกทะลุป่าดงใหญ่ไปยังจังหวัดเชียงราย เชียงตุง แล้ววกกลับมาทางเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตามป่าเขาอันเงียบสงบ และในป่าช้าใช้หลุมฝังศพเป็นที่ปฏิบัติธรรมอยู่เป็น เวลา ๖ ปี

การเผยแพร่ธรรมและการปกครอง

สืบเนื่อง มาจากหลวงปู่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ คณะศรัทธา ชาวบ้านก๋ง ในขณะนั้น มีจำนวน ๑๕ หลังคา ได้ส่งตัวแทนไปนมัสการหลวงปู่ โดยแจ้งความจำนงให้หลวงปู่ทราบว่า “มานิมนต์หลวงปู่ไปประจำที่วัดบ้านก๋ง เพราะเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุและสามเณรมาจำพรรษา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญสนทานกันหลายสิบปีแล้ว ศีลธรรมของชาวบ้านเริ่มเสื่อม มีการฉกชิง วิ่งราว ปล้นสดมภ์ ฉุดคร่าอนาจารอยู่เสมอ” หลวงปู่จึงรับนิมนต์และมาอยู่จำพรรษาบนกุฏิร้างมุงหญ้าคา ซึ่งมีอยู่หลังเดียวเท่านั้นในบริเวณวัด ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมผุพัง เป็นป่าทึบมืดครึ้ม มีเสือลายพาดกลอน และเสือโคร่ง ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ แต่ด้วยกระแสแห่งเมตตาธรรมของหลวงปู่ได้แผ่เยือกเย็นไปทั่วบริเวณกว้าง ความโหดร้ายและปรากฏตัวให้เห็นก็สูญหายไปในที่สุด ชาวบ้านที่รุ่มร้อนเบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกันเกินกว่าที่ผู้ใหญ่บ้านจะ ปกครองได้ ด้วยบุญบารมีแห่งเมตตาธรรมของหลวงปู่ที่ได้อบรมชาวบ้านทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ แต่มีชาวบ้านบางคนยังขาดความสามัคคี เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นพกแต่ความโลภะ โทสะ และโมหะ หลวงปู่จึงได้สร้างพระพุทธรูปและประกาศแก่ชาวบ้านให้ทุกคนนำปอยผมของแต่ละคน มามอบให้ แล้วหลวงปู่ก็นำเอาปอยผมของทุกคนบรรจุไว้ในฐานพระ ในพิธีบรรจุปอยผมไม่ว่าเด็กเล็กชายหญิง คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ มาพร้อมเพียงกันทุกคน แล้วหลวงปู่ก็ประกาศว่า ต่อแต่นี้ไปชาวบ้านก๋งผู้ใดขืนกระทำความชั่ว พระพุทธรูปจะไม่ให้ความคุ้มครองเป็นอันขาด แต่ถ้าผู้ใดทำความดีละความชั่ว ให้หมั่นเข้าวัดรักษาศีล ฟังธรรม พระพุทธรูปจะให้ความคุ้มครองแก่เขาเหล่านั้น ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ อายุยืนนาน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปรากฏว่าบ้านก๋งเริ่มเป็นดินแดงแห่งความร่มเย็น ชาวบ้านต่างก็มี เมตตาธรรม มีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว เลิกอบายมุขทั้งหลายจนหมดสิ้น ทั้งกลับมาฝึกกรรมมัฎฐานกันทั้งหมู่บ้าน จนทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ขจรขจายไปทั่วทุกหมู่บ้านทั้งจังหวัด น่าน
เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยความสำนึกในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เพื่อต้องการให้กุลบุตรของพุทธศาสนิกชนได้บรรพชาและอุปสมบทสบทายาทพุทธศาสนา หลวงปู่ต้องเดินทางไปทำการบรรพชาและอุปสมบทให้ด้วยความลำบากตรากตรำในท้อง ที่ตำบลยม ตำบลอวนและตำบลศิลาเพชร ซึ่งเป็นท้องที่ป่าเขาลำเนาไพร ทุรกันดาร ต้องเดินทางนอนพักแรมกลางป่า บางครั้งก็ต้องใช้ม้าเป็ นพาหนะในการเดินทาง
เมื่อ วันที่ ๕ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูมงคลรังสี ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูชั้นโทในนามเดิม เจ้าคณะตำบลยม

การทะนุบำรุงวัด

เนื่อง จากวัดก๋งเป็นวัดรกร้างมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ไม่มีพระภิกษุและสามเณรมาจำพรรษาเมื่อหลวงปู่ได้รับนิมนต์ชาวบ้านมาอยู่จำ พรรษาประจำที่วัดแล้ว หลวงปู่ได้เริ่มปลูกฝังจิตใจ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้านก่อน ต่อมาเมื่อชาวบ้านคลายความรุ่มร้อน ชาวบ้านมีศีล มีเมตตาต่อกัน มีหลวงปู่เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน หลวงปู่ก็ได้ชักชวนชาวบ้านบูรณะซ่อมแซม และสร้างกุฏิ พระวิหาร พระอุโบสถ ชาวบ้านจะช่วยกันบริจาคทรัพย์และร่วมแรงกันทำการก่อสร้าง หลวงปู่จะบริจาคทรัพย์ส่วนตัว สมทบทุนในการก่อสร้างบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ โดยมิได้หวังสะสมไว้เป็นของส่วนตัว จนกระทั่งในบั้นปลายของชีวิตบรรดาสานุศิษย์ต่างก็มีความประสงค์จะให้หลวงปู่ ได้พักผ่อน ทุกคนต่างก็ร่วมมือกันสร้างกุฏิหลังใหม่ สร้างพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ เป็นการน้อมถวายแก่หลวงปู่ เพื่อเป็นบุพการีบูชา อยากจะให้หลวงปู่มีชีวิตยาวนานเป็นมิ่งขวัญของสานุศิษย์ทั่วหน้า

อวสานแห่งชีวิต

หลังจากคณะศิษย์ได้ สร้างกุฏิ และได้ทำการถวายแด่หลวงปู่แล้ว ก็มีการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ ซึ่งหลวงปู่ได้ทนุถนอมไว้เป็นเวลาอันยาวนาน พิธีบรรจุได้กระทำพร้อมกับวันสืบชะตาอายุครบ ๘๗ ปี ของหลวงปู่ เสร็จการจัดงานนมัสการพระธาตุแล้ว หลวงปู่เริ่มมีอาการป่วยเกี่ยวกับหลอดลมและความชราภาพ พระอาจารย์มนตรี ธมมเมธี ก็ได้พาไปตรวจรักษาหลายครั้ง จนกระทั่งเกินขีดความสามารถของแพทย์ที่จะทำการเยียวยา และให้การรักษาได้ แต่หลวงปู่มิได้แสดงอาการเจ็บปวดหรือบ่นแม้แต่น้อย คงมีสุขภาพจิตสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่ได้เรียกศิษย์ผู้ใกล้ชิด พร้อมกับสั่งพระอาจารย์มนตรีไว้ทุกประการ และขอมอบสังขารให้สานุศิษย์เก็บไว้ที่วัดศรีมงคล ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่ได้บูรณะซ่อมแซม ได้ทำการฟื้นฟูสภาพความเสื่อมโทรมนานัปการ ได้สร้างชาวบ้านให้เป็นชาวพุทธ ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่ได้ขอร้องให้สานุศิษย์นำหลวงปู่ไปส่งที่วัด เมื่อหลวงปู่ได้ถึงวัด ชาวบ้านก็ได้มาต้อนรับอย่างคับคั่งหลวงปู่อยู่ ๒-๓ วัน หลวงปู่ก็จากไปด้วยอาการอันสงบ ต่อหน้าสานุศิษย์ผู้ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข เคยบุกป่าผ่าดอยมาด้วยกัน ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๐๑.๓๐ น.

ครูบาท่านไม่ธรรมดาครับ มรณะภาพ ตั้งแต่ปี 32 สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ต่อมาได้รับพระราชทานเพลิงศพไปในปี 42

(ขอบคุณข้อมูล http://lovewangpha.com/forum/index.php?topic=299.0)

ครูบาบ้านก๋ง

Facebook Comments