คลินิกจิตเวชผู้สูงอายุ

ทำความรู้จัก “คลินิคจิตเวชผู้สูงอายุ” เป็นคลินิกจิตเวชสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีบริการตรวจ วินิจฉัยและรักษา ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาดังต่อไปนี้

  • ปัญหาความจำ
  • ปัญหาการนอน
  • ปัญหาภาวะสมองเสื่อม
  • ปัญหาทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน

จากการสำรวจพบว่าประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย อาจมีผู้ที่มีปััญหาสภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 2% ซึ่งภาวะสมองเสื่อมนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาทางด้านบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป หรือปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้

ปัญหาทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม และจิตใจที่พบในผู้ป่วยสมองเสื่อม มีดังนี้

  1. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง พบได้บ่อยที่สุดถึง 70% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะ ไม่กระตือรือร้นที่จะทำอะไร จะชอบนั่งนิ่งๆ อยู่เฉยๆ ความคิดริเริ่มใหม่ๆ จะลดลง และจะคิดแต่เรื่องตนเอง จะพูดเรื่องตัวเองโดยเฉพาะเรื่องในอดีต และจะพูดซ้ำๆ ทำให้บางครั้งลูกหลานคิดว่าความจำยังดี เพราะจำเรื่องในอดีตนานมาแล้วได้ แต่ที่จริงแล้วการสูญเสียความจำในผู้ป่วยสมองเสื่อมจะเริ่มเสียความจำใหม่ๆ ก่อน ถ้าอาการเป็นมากแล้วจึงจะมีสูญเสียความจำในอดีต
  2. ภาวะหลงผิด พบได้ 30-50% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม ลักษณะหลงผิดที่พบได้บ่อย เช่น เชื่อว่ามีคนในบ้านมาขโมยเงินทอง หรือข้าวของของผู้ป่วย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งก็เริ่มจากที่ผู้ป่วยมีปัญหาความจำระยะสั้น ทำให้เวลาวางเงิน วางของ แล้วจำไม่ได้ว่าวางไว้ บ่อยๆเข้าจึงเชื่อว่ามีโจรหรือคนในบ้านขโมยเงินไป นอกจากนี้อาจพบหลงผิดคิดว่าคู่สมรสมีชู้ หรือคิดว่าจะมีคนมาประสงค์ร้ายหรือทำร้ายผู้ป่วย ภาวะหลงผิดนี้เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้ความสามารถในการจำที่มีการสูญเสียอยู่แล้วจะสูญเสียมากขึ้น
  3. ภาวะประสาทหลอน พบได้ 10-30% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม ลักษณะที่พบได้บ่อย คือ การเห็นภาพหลอน เช่น ผู้ป่วยจะบอกลูกหลานว่าเห็นคนบุกรุกในบ้าน หรือเห็นเด็ก สัตว์ ที่ไม่เคยมีในบ้านมาอยู่ในบ้าน บางครั้งอาจบอกว่าเห็นคนที่รู้จักในอดีต เช่น พ่อแม่พี่น้องของผู้ป่วยที่ตายไปแล้วมาหา ก็จะทำให้ลูกหลานที่เชื่อเรื่องทางนี้ เชื่อว่าคนเหล่านี้มาชวนผู้ป่วยไปอยู่ด้วยแล้ว ก็จะสิ้นหวัง หมดกำลังใจในการดูแลผู้ป่วย นอกจากการเห็นภาพหลอนแล้ว อาจพบอาการประสาทหลอนเป็นแบบหูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาคุยด้วย มีเสียงคนขู่จะมาทำร้ายผู้ป่วยได้
  4. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เราอาจพบว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมดูแลยาก ผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงง่าย พบว่าจะมีอารมณ์โกรธอย่างฉบับพลัน พบได้ถึง 50% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม บางครั้งเรื่องที่มากระตุ้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ควรโกรธ แต่ภาวะที่สมองไม่ดีจะทำให้การควบคุมด้านอารมณ์เสียไปด้วย อารมณ์ซึมเศร้าเป็นอีกอารมณ์ที่พบได้บ่อยถึง 20 – 40% ถ้าผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้ามากอาจจะมีความคิดทำร้ายตนเองได้ ส่วนอารมณ์ที่ดีผิดปกติพบได้แต่พบได้น้อยกว่าประมาณ 20% ของผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมด
  5. พฤติกรรมอื่นๆ ที่เรามักจะได้ข่าวบ่อยๆ ก็คือ ผู้ป่วยสมองเสื่อมหายออกจากบ้านไป ไม่รู้ว่าเดินหายไปไหน ภาวะการเดินไปแบบไม่มีจุดหมายจะพบได้ในผู้ป่วยสมองเสื่อม บางรายอาจไปพบว่าเดินอยู่ห่างจากบ้านได้ไกลๆ แบบคนละจังหวัดได้ อีกพฤติกรรมหนึ่งที่เป็นปัญหาคือการเก็บสะสมของ จะพบว่าผู้ป่วยจะเก็บของ บางครั้งเป็นของที่ทิ้งแล้ว ของใช้ที่เสียแล้ว ผู้ป่วยก็จะเก็บเอาไว้ ไม่ยอมให้ทิ้ง ถ้าลูกหลานเอาไปทิ้งจะโกรธมาก อีกปัญหาคือลักษณะที่ผู้ป่วยถูกมองว่าเป็นเฒ่าหัวงู ก็คือปัญหาพฤติกรรมลวนลามทางเพศกับเพศตรงข้ามแต่ส่วนใหญ่ก็จะพบในผู้ป่วยชาย จะพบได้ 20% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม โดยทั่วไปผู้ป่วยจะทำแค่ลักษณะลวนลาม แต่จะไม่มีลักษณะทำร้ายเพื่อจะมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาลวนลามทางเพศมักจะทำให้ลูกหลานอับอาย ขาดการเคารพนับถือ และไม่ยอมดูแลผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับความสามารถของสมองอีก เช่น มีการสับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ การสูญเสียทักษะความสามารถต่างๆ เช่น ความสามารถในการดูแลตัวเองในเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล การลืมสารพัดลืม ไม่ว่าจะเป็นลืมของ, ลืมกินยา ลืมแม้กระทั่งมื้ออาหารที่รับประทาน ทำให้บางครั้งผู้ป่วยจะมาขออาหารรับประทานอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ก็จะเอาไปฟ้องลูกหลานว่าคนที่ดูแลโหดร้ายไม่ยอมให้อาหารรับประทาน เป็นต้น

หลักในการแก้ปัญหาพฤติกรรมในผู้ป่วยสมองเสื่อม

  1. ต้องได้รับการตรวจ วินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาพฤติกรรมของโรคสมองเสื่อม หรือเป็นโรคอื่นๆ ทางด้านจิตประสาท
  2. เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อมแล้ว ต้องหาสาเหตุว่าเสื่อมจากสาเหตุใด จากข้อมูลสถิติพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์อันดับหนึ่ง รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง การรักษาต้องรักษาที่สาเหตุจุดนี้ด้วย
  3. รักษาหรือชะลอไม่ให้ภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น เพราะว่าภาวะความเสื่อมที่มีมากขึ้น โอกาสเกิดปัญหาทางพฤติกรรมและจิตใจก็จะมากตาม
  4. บางปัญหาทางพฤติกรรม อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาทางจิตเวช เช่น ภาวะหลงผิด, ประสาทหลอน ซึมเศร้าอย่างรุนแรง ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อสั่งจ่ายยาให้
  5. หลายๆ พฤติกรรม ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ผู้ดูแลจะต้องเข้าใจและรับทราบว่าพฤติกรรมนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย การแก้ปัญหาทำได้โดยไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรมนั้นๆ แล้วเบี่ยงเบนความสนใจผู้ป่วยไปยังเรื่องอื่น และที่สำคัญต้องจำไว้ว่าสถานการณ์ใดเป็นตัวกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยเกิดพฤติกรรมนั้น แล้วต่อไปเราก็จะได้หลีกเลี่ยง จะได้ไม่เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อีก

โรคสมองเสื่อม

(ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้เขียน : พ.ท.ผศ.พงศธร เนตราคม  ที่มา : สมาคมจิตแพทย์ฯ)

Facebook Comments